กระบวนการ
กระบวนการ
- เยาวชนเข้าถึงความจริง
- การสร้างกระบวนการ “คิด”
- ลงมือปฏิบัติด้วยกัน
- สรุปข้อเรียนรู้และพัฒนาความคิด
- การถ่ายทอดสู่ผู้อื่น
- สิ่งที่จะทำต่อไป
เยาวชนเข้าถึงความจริง (กฎธรรมชาติ และ กฎหมาย)
ความจริง ที่ชวนเยาวชนเข้าไปทำความรู้จักและทำความเข้าใจ คือ
กฎธรรมชาติ และ กฎหมาย
กฎธรรมชาติ คือ ระบบความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตและส่ิงไม่มีชีวิตในธรรมชาติ เป็นความจริงผ่านระยะเวลามายาวนานเท่าอายุของโลก เยาวชนเข้าถึงความจริงดังกล่าว โดยผ่านการรับรู้ เรียนรู้ด้วยการเข้าไปสัมผัสเรียนรู้ในพื้นที่จริงด้วยตนเอง
กฎหมาย คือ ระบบที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ โดยในพื้นที่ที่ชุมชนอยู่อาศัยนั้นอยู่ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก (ซึ่งเป็นการกำหนดพื้นที่ภายหลังชุมชน) เพื่อให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่าและธรรมชาติ ที่อยู่ภายใต้กฎหมาย พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ดังนั้น เยาวชนในชุมชนจึงจำเป็นต้องทำความรู้จักและเข้าใจในเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าว รวมถึงความหมายของ “มรดกโลกทางธรรมชาติ” ว่ามีคุณค่าและความหมายที่สำคัญอย่างไรต่อประเทศไทยและต่อโลก
โดยวิธีการเพื่อเข้าถึงความจริงทั้ง 2 อย่าง จำเป็นต้องมีกระบวนการที่ถูกต้อง จึงจะได้ความรู้ที่มีคุณภาพ ประกอบด้วย
- การได้รับรู้ ความจริงนั้นด้วยตนเอง ได้เห็น ได้สัมผัสด้วยตนเอง
- การได้รับฟังถ่ายทอดจากผู้มีความรู้ที่แท้จริง เช่น เจ้าหน้าที่เขตฯที่ปฏิบัติงาน นักวิจัยเสือโคร่ง นักวิจัยนกเงือก นักวิชาการ และผู้รู้ที่ผ่านการลงมือทำจริงด้วยตนเองมาแล้ว เป็นต้น
กระบวนการที่ได้ทำไปแล้วเพื่อการเข้าถึงความจริงดังกล่าว
แคมป์ 1 “รู้จักทุ่งใหญ่ฯ”
เยาวชนได้เข้าไปรู้จักความจริงของพื้นที่ “ป่าบ้านเกิด” ที่มาที่ไป ประวัติศาสตร์ ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกโดยรอบ ได้รู้จักธรรมชาติในมิติ ความจริงและความงาม และความสัมพันธ์ในธรรมชาติ ได้รู้จักและเข้าใจคุณค่า ความหมายของ “มรดกทางธรรมชาติของโลก” ผืนนี้ ตลอดจนได้รู้จักบทบาทหน้าที่ผู้ดูแลพื้นที่ คือ เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก
รวมระยะเวลา 5 วัน 4 คืน : 23-27 กุมภาพันธ์ 2561
แคมป์ 2 “ถ้าไม่มีเสือ ก็ไม่มีป่า”
เป็นแคมป์ที่พาเยาวชนไปค้นหาความจริง ครั้งที่ 2 โดยเน้นการรับรู้รูปแบบและวิธีการศึกษาที่เป็นวิทยาศาสตร์ ณ สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี
ณ ที่นี้ มีนักวิจัยเสือโคร่ง ที่ได้ทำการศึกษาประชากรและระบบนิเวศเสือโคร่งในประเทศไทย โดยเฉพาะในป่าห้วยขาแข้ง มายาวนานมากกว่า 20 ปี การที่เยาวชนได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญจึงได้ประโยชน์อย่างยิ่ง เยาวชนได้ทำความเข้าใจวิธีการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล วิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อได้เป็นองค์ความรู้ด้านเสือโคร่งที่ถูกต้องแม่นยำ ไม่ใช่มาจากการคิดเอาเองหรือความเชื่อ และได้ข้อสรุปร่วมกันว่าระบบนิเวศธรรมชาติที่สมบูรณ์นั้น จำเป็นต้องมีเสือโคร่งซึ่งเป็นผู้ล่าสูงสุดอยู่ในระบบด้วย
รวมระยะเวลา 5 วัน 4 คืน : 5-9 พฤษภาคม 2561
แคมป์ 3“ความสัมพันธ์ยั่งยืน นกเงือก บรรพชีวิน และวิถีออแกนิค”
เพื่อให้เยาวชนได้เห็นทั้ง 3 มิติที่มีความสัมพันธ์กัน ผ่านอดีต/ปัจจุบัน/อนาคต เข้าใจคำว่า “วิวัฒนาการ” (Evolution) และ “พัฒนาการ” (Developement) ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่, พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน และ บริษัท แดรี่โฮม จำกัด จ.นครราชสีมา
เยาวชนได้เข้าฝึกอบรมกระบวนการศึกษาวิจัยนกเงือก (ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์) ทำความรู้จักนกเงือกในฐานะผู้กระจายพันธุ์ไม้ป่าและเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของป่าอีกชนิดหนึ่งที่นอกเหนือจากเสือโคร่ง และพากันย้อนอดีตประวัติศาสตร์ด้านธรรมชาติ ธรณีกาล รู้จักโลกของเราใบนี้ตั้งแต่กำเนิดโลก ตลอดจนไปเรียนรู้ดูงาน เข้าใจหลักคิด แนวทางและความเป็นไปได้ของวิถีการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม (SE) ที่ยั่งยืนที่คนอยู่ได้ สังคมอยู่ได้ และธรรมชาติอยู่ได้ ที่มีอยู่จริง
การสร้างกระบวนการ “คิด” ให้เกิดขึ้นในเยาวชน
เป้าหมายหลักของการสร้างกระบวนการ “คิด” คือ การให้เยาวชนเกิด “ความคิด” ที่ทำให้ตนเองเป็นประโยชน์ต่อตนเอง สังคมและธรรมชาติได้จริง โดยหลีกเลี่ยงการคิดแทน แต่ชวนให้พวกเขาใช้และเกิดความคิดด้วยตนเองได้
ต้นทุนสำคัญของการคิดที่ดี คือ คุณภาพของข้อมูลที่ได้รับนั้นเป็นความจริงที่มาจากประสบการณ์ตรงของตนเอง และการฟังที่มีคุณภาพทั้งจากตนเองที่เปิดรับฟัง และผู้พูดที่มีความรู้ในเรื่องนั้นอย่างถ่องแท้และถ่ายทอดอย่างตรงไปตรงมา
“คิดให้ได้ความรู้ และคิดใช้ความรู้” เป็นเหมือนสโลแกนของกระบวนการ “คิด” นี้ เมื่อพวกเขาได้ผ่านการคิดที่มีคุณภาพที่นำไปสู่ความรู้แล้ว ก็ถึงขั้นตอนของการคิดใช้ความรู้นั้นอย่างเกิดประโยชน์
ผลที่ได้จากการ “คิดอย่างสร้างสรรค์และคิดแก้ปัญหา” เพื่อการดูแลพื้นที่ป่าธรรมชาติรอบชุมชน ได้ข้อสรุปถึงบทบาทหน้าที่ที่จะทำของเยาวชน “One Community Project” ดังนี้
- การรวบรวมองค์ความรู้ทั้งทางธรรมชาติและวิถี
- เผยแพร่ / ถ่ายทอด / กระจายความรู้
- พบปะ / ประชุม / แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมกันอย่างสมำ่เสมอ
- สร้างโอกาสและพื้นที่เพื่อการแสดงความรู้ และความสามารถของคนในชุมชน
- สร้างกิจกรรมและพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ธรรมชาติและวิถี
- สร้างเยาวชนรุ่นใหม่ เพื่อสานต่องานอนุรักษ์ป่า
- สร้างอาชีพใหม่ด้านการศึกษาธรรมชาติให้กับชุมชน
- ประสานงานเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ป่าไม้และชุมชนได้
ในปัจจุบัน คำถามสำคัญที่โครงการฯ ชักชวนให้เยาวชนไปสู่ “การคิด” ในขั้นต่อไป คือ
- อะไรคือการทำลาย
- อะไรคือการทำกิน
- อะไรคือการอนุรักษ์
ลงมือปฏิบัติด้วยกัน
องค์ประกอบหนึ่งที่โครงการฯ เคารพและให้ความสำคัญในการ “ลงมือปฏิบัติ” คือ การมีส่วนร่วม มีรายละเอียดดังนี้
- ร่วมคิด (คิดแก้ปัญหา, คิดสร้างสรรค์)
- ร่วมทำ (ทำอะไรที่เป็นการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ / ทำหรือพัฒนาการทำให้ดีขึ้นอย่างไร / สิ่งที่ดีแล้วทำการรักษาให้คงอยู่อย่างไร)
ซึ่งผู้มีส่วนร่วมในการลงมือทำในโครงการฯ นี้ ประกอบด้วย เยาวชนหรือชุมชน / รัฐหรือเจ้าหน้าที่เขตฯ / ภาคสังคมหรือมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์
และเมื่อเริ่มลงมือการปฏิบัติ หรือ การลงมือทำตามความคิด เยาวชนจะได้ความรู้จากการปฏิบัติที่เป็นข้อมูลที่พิสูจน์ ความคิด เกิดความรู้ที่เป็นความจริงที่มีคุณภาพของข้อมูลเพราะมาจากการลงมือทำเองทำจริง ที่จะนำไปสู่ต้นทุนของการคิดต่อไป
สิ่งที่เยาวชนกำลัง “ลงมือปฏิบัติ” ในเวลานี้ คือ บทบาทข้อที่ 1 คือการสำรวจและรวบรวบความหลากหลายทางชีวภาพในธรรมชาติในป่ารอบชุมชน เพื่อทำการเผยแพร่และสร้างความร่วมมือเพื่อการรักษาต่อไป
สรุปข้อเรียนรู้และพัฒนาความคิดไปสู่การกระทำต่อไป (ร่วมกัน)
การสรุป เพื่อรู้ตนเองว่า ณ เวลานี้สิ่งที่กำลังทำอยู่อยู่ระยะไหน (Milestone) โดยมีเป้าหมายของการสรุป
- สรุปเพื่อจะเริ่มปฏิบัติขั้นต่อไป เมื่อได้ความรู้จากการปฏิบัติแล้ว จะสามารถบอกตนเองได้ว่า สิ่งไหนสำคัญ สิ่งไหนเร่งด่วน และสิ่งไหนจำเป็น ต่อการลงมือปฏิบัติต่อไป
- สรุปเพื่อการพัฒนาสิ่งที่ทำอยู่ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น นั่นคือ ความสามารถในการเชื่อมโยงองค์ประกอบต่างๆ ในธรรมชาติได้ด้วยตนเอง เห็นว่าตนเองมีความสัมพันธ์ต่อระบบธรรมชาติอย่างไร ส่ิงมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตในธรรมชาติรอบตนเองมีความสัมพันธ์กันอย่างไร
การถ่ายทอดสู่ผู้อื่น
คือการบอกเล่า สิ่งที่เยาวชนได้รับรู้เรียนรู้สู่คนอื่นๆ ในชุมชนของตนเอง บ้างเป็นการประชุมร่วมกัน (สำหรับผู้ใหญ่) บ้างเป็นการจัดกิจกรรมเรียนรู้ (สำหรับเด็ก) โดยมีหลักของการถ่ายทอดที่สำคัญคือ
- การอธิบายด้วยภาพ/เสียง
- การปฏิบัติทดลอง
- การสรุป/ถอดบทเรียนร่วมกัน
โดยมีเป้าหมายเพื่อการสร้างการร่วมมือที่นำไปสู่การรักษา
ปัจจุบัน สิ่งที่เยาวชนได้เริ่มต้นทำกำลังออกผล พวกเขาได้องค์ความรู้ด้านธรรมชาติมาแล้วส่วนหนึ่งและกำลังถ่ายทอดและสร้างความร่วมมือเพื่อการดูแลป่ามรดกโลก “ป่าบ้านเกิด” ผืนนี้ร่วมกับชุมชนของตนเองอย่างต่อเนื่อง
เยาวชนได้เริ่มทำกิจกรรมถ่ายทอดสู่ผู้อื่นไปบ้างแล้ว เช่น บ้านทิไล่ป้านำโดยน้องบัติได้จัดประชุมพูดคุยกันในหมู่บ้านเรื่องไร่หมุนเวียนและความสำคัญของป่ามรดกโลกผืนนี้ และบ้านเกาะสะเดิ่งนำโดยน้องโจอี้ จัดกิจกรรมเรียนรู้สิ่งมีชีวิตในลำธารของหมู่บ้านในกับเด็กระดับประถม 1-6 ในหมู่บ้านตนเอง และระดับมัธยมศึกษาตอนต้นให้กับหมู่บ้านกองม่องทะ
หลักสำคัญในการสร้างความสมานฉันท์ และเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม (ทูเตยสูตร)
- รู้จักฟัง (เป็นผู้รับฟังที่ดี)
- พูดให้ผู้อื่นฟังได้ (มีความรู้จริง)
- ใฝ่รู้ (ใฝ่หาข้อมูลในความจริงเสมอ)
- ทรงจำได้ดี (มีความจดจ่อ ตั้งใจ ไม่ผิดพลาดในข้อมูล)
- รู้ได้ เข้าใจชัดเจน
- พูดให้ผู้อื่นเข้าใจได้ (อธิบาย สื่อสารได้ดี)
- ฉลาดในสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ (วิเคราะห์ได้)
- ไม่ทำให้เกิดความแตกแยก (ไม่ยุแหย่ให้ทะเลาะกัน หรือเกิดความเข้าใจผิด)
สิ่งที่จะทำต่อไป (Next Step)
โครงการ One Community ยังคงดำเนินต่อไปในปัจจุบัน และกระบวนการในโครงการก็ยังคงดำเนินโดยมีรูปแบบและลำดับ 1-4 อย่างต่อเนื่อง นั่นคือการค้นหารวบรวมองค์ความรู้ด้านธรรมชาติ ที่ลงลึกและละเอียดอ่อนขึ้น โดยมีมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์เป็นองค์กรพี่เลี้ยงเพื่อให้เยาวชนเข้าสู่เป้าหมายของการเป็นผู้มีส่วนร่วมในการดูแลป่ามรดกโลกผืนนี้ร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกอย่างมีคุณภาพที่แท้จริงและยั่งยืน
โดยโครงการฯ มีเป้าหมายในการร่วมพัฒนาศักยภาพให้พวกเขาได้เข้าสู่เป้าหมายดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน
โดยต้องอาศัยปัจจัยสำคัญของการพัฒนา ดังนี้
- เยาวชนที่มีความใฝ่ (ฉันทะ)
- สร้างความรู้จากประสบการณ์ตรง
- องค์ความรู้จากผู้รู้ เช่น นักวิจัย นักวิชาการ เป็นต้น
- ร่วมลงมือปฏิบัติ 3 ฝ่าย คือ เยาวชน / เขตฯ / มูลนิธิฯ
- ทุนเงิน ทุนโอกาส