ไร่หมุนเวียน
คือระบบการผลิตอาหารของชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ร่วมกับป่า ที่เป็นองค์ความรู้ท้องถิ่นที่สั่งสมมายาวนาน วงจรการผลิตที่ใช้ระยะสั้นและพักฟื้นพื้นที่ระยะยาวเป็นการจําลองวัฏจักรระบบนิเวศเขตร้อนชื้น ความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิตในไร่หมุนเวียนจึงขึ้นอยู่กับความสมดุลของระบบนิเวศ เช่น ดิน พืชปกคลุมดิน ไฟป่า ความชุ่มชื้น น้ํา ความหลากหลายของพืชพรรณ สัตว์ป่า ภูมิอากาศ ฯลฯ และการหมุนเวียนธาตุอาหารตามธรรมชาติ การจําลองนิเวศในระบบไร่หมุนเวียนดําเนินการหลายรูปแบบ เช่น การเลือกพื้นที่ที่มีนิเวศไม่เปราะบาง การเลือกพื้นที่ไร่ซากที่มีอายุพอเหมาะกับระยะที่ผืนดินและต้นไม้สะสมธาตุอาหารได้อย่างพอดี การเผาไร่จึงเป็นการปลดปล่อยธาตุอาหารจากพืชสู่ดิน การไม่ตัดฟันให้เตียน ก็เพราะต้องอาศัยระบบสังคมพืชที่ หลากหลายช่วยเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ไร่หมุนเวียนจึงไม่ใช่เพียงระบบการผลิตของคนกะเหรี่ยง แต่ยังเป็นระบบนิเวศประดิษฐ์หน่วยย่อยภายใต้นิเวศวิทยาภูมิทัศน์ (Ecological Landscape) ใหญ่ที่มีทั้งภูเขา ที่สูง หุบเขา ต้นน้ํา ป่าทึบ ป่าผสมผลัดใบ ทุ่งหญ้า ฯลฯ ที่เชื่อมโยงกันทั้งระบบ

คนกะเหรี่ยงที่นี่ยึดหลักระบบสิทธิการจัดการทรัพยากรร่วมมายาวนาน ไร่หมุนเวียนแต่ละผืนไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์เบ็ดเสร็จเด็ดขาดของใคร แม้จะมีการรู้กันว่าผืนไร่ซากใดเป็นของครอบครัวไหนทํามานาน แต่ในทางปฏิบัติก็มีการแลกเปลี่ยนพื้นที่กันได้ และด้วยความเป็นระบบสิทธิต่อทรัพยากรร่วมนี้เอง ทําให้จํานวนพื้นที่ไร่ซากของตําบลไล่โว่ไม่ได้ขยายตัวแต่อย่างใด พื้นที่ไร่ซากทั้งหมดของแต่ละหมู่บ้านจึงเปรียบเสมือน พื้นที่ของส่วนรวม โดยมีครอบครัวที่ใช้พื้นที่เหล่านั้นมาก่อนเป็นผู้ถือสิทธิชั่วคราวเท่านั้น
ไร่หมุนเวียน หมายถึง การหมุนเวียนพื้นที่สําหรับปลูกข้าวไร่ ทุกปี โดยจะวนกลับมาใช้พื้นที่เดิมอีกครั้งในรอบ 8-10 ปี ชาวกะเหรี่ยงในทุ่งใหญ่ฯตะวันตก จะกําหนดพื้นที่การทําไร่หมุนเวียนไว้ เป็นโซนๆ โดยแต่ละโซนใหญ่ แต่ละครอบครัวจะสามารถหมุนเวียนบริเวณใดก็ได้ของโซนไหนก็ได้ เพราะ “ไม่มีใครเป็นเจ้าของที่ดิน” ที่ดินทั้งหมดเป็นของพระแม่ธรณี โดยความเชื่อนี้ ทําให้แปลงที่ถูกจัดสรรเพื่อการทําไร่หมุนเวียนเป็นพื้นที่สาธารณะที่ไม่ถูกครอบครอง และพื้นที่ใดที่ไม่ได้ถูกทําไร่จะถูกปล่อยตามธรรมชาติเพื่อให้ดินและต้นไม้กลับมาฟื้นฟูความสมบูรณ์อีกครั้ง

“ข้าวไร่” คือชื่อเรียกลักษณะพันธุ์ข้าวที่ปลูกกันในไร่หมุนเวียน มีทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว เป็นข้าวที่ปลูกได้ดีบนที่ดอนหรือท่ีลาดเชิงเขา ไม้ต้องการน้ําเยอะ น้ําไม่ท่วมขัง โดยมีหลากหลายสายพันธุ์ ส่วนใหญ่แล้วเป็นข้าวไร่พันธุ์พื้นเมืองที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ มีมากถึง 38 สายพันธุ์
แต่โดยทั่วไป ข้าวเจ้าที่ปลูกกันจะมีประมาณ 5-10 สายพันธุ์ข้าว และข้าวเหนียว 1-2 สายพันธุ์ ขึ้นกับความนิยมของแต่ละครอบครัว โดยแต่ละสายพันธุ์จะมีรสชาติและคุณลักษณะที่เหมาะในการนํามาใช้กินคนละแบบ
โดยจะเริ่มปลูกช่วงต้นฤดูฝน และเก็บเกี่ยวในช่วงต้นฤดูแล้ง (พฤษภาคม-พฤศจิกายน) และจะเริ่มมีการเตรียมแปลงปลูกข้าวไร่กัน ตั้งแต่ ต้นเมษายน


กระบวนการปลูกข้าวไร่
- สํารวจหาพื้นที่ปลูกข้าวจากไร่ข้าวเดิมที่เคยปลูกไว้ 8-10 ปีที่แล้ว เรียกว่า “ตีป่า” โดยดูจากมีวัชพืชน้อย ป่าโล่ง มีไผ่สูง
- เตรียมแปลงปลูก นับตั้งแต่ “ฟันไร่” คือการถาง
- “เผาซาก” เศษซากพืชและวัชพืชที่ฟันแล้ว (มีการกันไฟ) หลังเผาซากเสร็จแล้ว ก็จะมีการเริ่มปลูกผักกันในช่วงนี้
- “รื้อซาก” ความสะอาดแปลงด้วยการตัดและเก็บเศษไม้ หลังรื้อซากเสร็จแล้ว ก็จะมีการสร้างกระต๊อบกันในช่วงนี้
- “ดายหญ้า” หลังจากรื้อซากแล้วก่อนเข้าฤดูฝนที่พร้อมหยอดข้าว พื้นที่อาจมีหญ้าขึ้นอีกครั้ง ก็มีการดายหญ้าอีก 1 รอบ
- “หยอดข้าว” ปลูกแบบหยอดเป็นหลุม ห่างกันหลุมละประมาณ 1 ศอก โดยใช้เมล็ดข้าว 10-20 เมล็ดต่อหลุม
- “ดายหญ้า” กําจัดวัชพืชโดยการถางและถอนระหว่างการเจริญเติบโตของข้าวไร่ ประมาณ 2 – 3 ครั้ง
- การเกี่ยวข้าว เกี่ยวข้าวระยะสุกแก่ โดยมีการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้สําหรับปลูกในปีต่อไป
- การตากบนตอ หลังจากเกี่ยวแล้วจะตากรวงข้าวทิ้งไว้บนตอซังประมาณ 3-4 แดด เพื่อลดความชื้นข้าวหลังเก็บเกี่ยว
- ฟาดข้าวและพัดข้าว
- การเก็บรักษา หลังจากที่นวดข้าวและทําความสะอาดแล้ว เก็บไว้ในยุ้งฉางที่สะอาด ระบายอากาศได้ กันแดด กันฝน กันแมลงและสัตว์ศัตรูได้ หากไม่มียุ้งฉางสามารถเก็บไว้ในกระสอบและวางบนแคร่ท่ีสามารถระบายอากาศได้

แหล่งข้อมูลประกอบส่วนหนึ่งจากงานวิจัยของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา www.ldi.or.th