admin
แนะนำ “พ่อธง” แห่งบ้านเกาะสะเดิ่ง ปราชญ์ชุมชน
“อย่างนี้ละครับ วิถี”
เมื่อครั้งที่ได้เข้าไปหมู่บ้านเกาะสะเดิ่ง เมื่อกลางสิงหาคมปี 2561 ทีมงานได้มีโอกาสไปพักที่บ้านน้องวัช เยาวชนในโครงการ One Community ครั้งนั้นได้พบปะพูดคุยกับคุณพ่อน้องวัช “พ่อธง” ทำให้ได้มุมมองความคิด …ที่ยังคงอยู่ในใจจนทุกวันนี้… ถึงชีวิตและวิถีของชุมชนคนในทุ่งใหญ่ฯตะวันตก ลองมาฟังเรื่องราวของ พ่อธง กันค่ะ
“คนสมัยก่อนในนี้ เรารู้จักกันเป็นส่วนใหญ่นะ เป็นญาติๆ กันนี่แหละ อยู่กันก็ปลูกผัก ปลูกข้าว หลังๆ มีปลูกพวกเงาะ ปลูกทุเรียน ปลูกส้มโอ ปลูกกล้วย ก็ได้กินกัน ไม่ต้องใช้เงินซื้อ แต่ก็ไม่ได้ขาย เพราะกว่าจะออกไปก็ไกล ถึงไม่ได้ตังค์ แต่ได้กิน ใครจะมากินก็กิน ลูกได้กิน ลูกคนอื่นได้กิน …พูดง่ายๆ ไม่มีเงิน แต่มีกิน มีข้าวกิน มีผัก แค่นี้เราก็อยู่ได้แล้ว เงินก็หาน้อยหน่อย ก็ได้จากการขายหมากบ้าง เอาไว้ใช้ซื้อของจำเป็นอื่น กะปิ นํ้าปลา นํ้ามัน
“เส้นทาง” นะ ไม่ใช่ “ถนน”
ที่ที่พวกผมอยู่เราขอแค่ “เส้นทาง” ก็พอแล้ว ในการติดต่อกับข้างนอก “เส้นทาง” นะ ไม่ใช่ “ถนน” เส้นทางที่พอให้มอเตอร์ไซค์ขับไปได้ ทำกันแบบชาวบ้านทำด้วยชาวบ้านเอง ไม่ได้ใช้แบคโฮทำ เพราะเราก็ห่วงว่า ถ้ามีถนนเข้ามา เราพร้อมจะรับมือกับสิ่งที่จะตามมาได้ไหม แล้วจริงๆ แล้วพวกเราก็ไม่ได้มีรถกันสักกี่คัน ส่วนใหญ่คนที่มีรถก็เป็นคนมีตังค์ ทีนี้ล่ะ พอคนมีรถเข้ามา เราจะไม่ได้เป็นเจ้านายตัวเองแล้ว เพราะเราจะกลายเป็นลูกน้องเขานั่นแหละ (หัวเราะ) เราไม่ได้ปฏิเสธความเจริญนะ แต่ว่าถนนดีๆ บ้านช่องดีๆ มีไฟฟ้าดีๆ เนี่ย จิตใจเรามันต้องดีขึ้นด้วย ไม่อย่างนั้น มันก็จะอยู่กันดีๆไม่ได้ เพราะจิตใจเสื่อม มีบ้านดี แต่เราหยุดไปวัดไปวา หยุดไปมาหาสู่กัน หยุดพึ่งพาอาศัยกัน แล้วมันจะดียังไง เราต้องมากรองให้ดีๆ อย่างเมื่อก่อนวัดเราเป็นไม้ไผ่ คนมาเต็ม กลัววัดพัง ช่วงหลังเราทำหลังใหญ่หน่อย แข็งแรงหน่อย แต่เดี๋ยวนี้ คนกลับขึ้นวัดน้อยลง เพราะอะไรไม่รู้ คนอาจจะลืมคิด แต่ไม่เป็นไร ค่อยๆปรับ ค่อยๆเป็นไป จะซ้ายหันขวาหันทีเดียวแรงๆ มันจะขาด …มีเหมือนกันนะที่อยากได้ถนน อยากได้ไฟฟ้า เราก็อยากอธิบายว่า จริงๆ เขาก็มีทำให้เสร็จสรรพแล้ว เราก็ไปหาบ้านในเมืองได้เลย เพราะเขาทำให้เราเสร็จแล้ว เราสามารถไปอยู่ได้เลย เราต้องเข้าใจคำว่า ป่า กับ เมือง อย่างเราอยู่ที่นี่ คือ ป่า นะ วิถีชีวิตเราก็ไม่เหมือนคนในเมือง ไม่ใช่เมือง ถ้าอยากได้แบบนั้น ก็ไปอยู่เมืองดีกว่าไหม อะไรอย่างนี้นะ ผมก็พยายามคุยให้เข้าใจ หลายคนก็ไม่อยากมองผมหรอก (หัวเราะ) เพราะเรามันสวนทาง เราสวนกันกับเขาน่ะ
คนที่แย่กว่าเรามีอีกเยอะแยะ
…มีเพื่อนผมคนหนึ่งเอาทุเรียนออกไปขายที่สังขละบุรี ก็ขายให้ชาวบ้านได้กิน ขายกิโลละ 20 บาทเองนะ มีป้าคนหนึ่ง เขาบอกว่ามีตังค์ 30 บาท ถ้าจะกินทุเรียนลูกหนึ่งได้ไหม เพื่อนก็สงสารก็ขายให้ ซึ่งคนแบบนี้มีอยู่เยอะไง คนมีตังค์น้อย คนที่แย่กว่าเรา ที่เขาไม่มีไร่หมุนเวียนเหมือนอย่างเรา เขาไม่มีที่จะปลูก ต้องทำงานรับจ้าง หาได้วันละ 200-300 บาท ต้องหาทุกวัน คนพวกนี้เขาแย่กว่าเรา เราไม่ต้องหาตังค์เพื่อซื้อทุกอย่างแบบเขา เราจะนอนทั้งวันก็ได้ อย่างผมนี่ตั้งแต่เข้าพรรษามา ไม่ได้เข้าไร่สักวันเลย ประมาณ 10 กว่าวันแล้ว ผมก็อยู่ได้ ผมไม่เดือดร้อนไงครับ มีข้าวกิน ไม่มีตังค์ก็อยู่ได้ ได้กินอยู่ทุกวันเลย แต่ถ้าต้องซื้อของจำเป็นก็ค่อยเอาหมากมาขาย ตอนนี้ผมยังเก็บหมากไว้อยู่นะ รอให้หมากเริ่มหมดก่อน ช่วงนั้น หมากจะได้ราคาดี ตอนนี้ผมมีหมากที่เก็บไว้ขาย 100 กว่าโล ถ้าขายตอนหมากเริ่มหมด ผมก็ขายได้กิโลเป็นร้อย ผมก็อยู่ได้ไปอีกหลายเดือน (หัวเราะ) อยู่เอาง่ายๆ แบบนี้แหละ
ป.4 เดี๋ยวนี้ สู้ ป.4 รุ่นผมไม่ได้หรอก
ตอนเด็กๆ ผมอยู่วัดไม่ได้เรียนหนังสือ เป็นลูกศิษย์วัดตั้งแต่เล็ก อยู่มา 5 ปี เริ่มบวชเณรได้ ก็บวช จำได้ว่าตอนเล็กๆ ไม่ได้เรียนหนังสือ ก็เล่นทุกวันเลย สบาย (หัวเราะ) พอบวชเณร พระสวดอะไรเราก็สวดได้หมด เพราะสวดมาทุกวันอยู่แล้ว ตอนที่ผมสึกจากเณร อายุ 13-14 ปี เพิ่งเริ่มมีโรงเรียนมาเปิด ครูมาจากเพชรบุรี ตอนนั้นผมตัวใหญ่กว่าเพื่อนเลย เริ่มเรียน ป.1 จบ ป.4 ตอนอายุ 18 ปี จำได้ว่าครูประจำชั้น เล่นฟุตบอลด้วยกันนี่ วิ่งตามผมไม่ทันหรอกนะ (หัวเราะ) จบ ป.4 ก็ไม่ได้เรียนต่อละ ป.4 สมัยก่อนความรู้เยอะนะ ป.4 เดี๋ยวนี้สู้รุ่นพวกผม ป.4 ไม่ได้หรอก (หัวเราะ) (น้องวัชแอบบอกว่า “ปริญญาตรีเดี๋ยวนี้ ยังสู้ ป.4 แบบพ่อผมไม่ได้เลย) แต่พอเรามีลูกก็อยากให้ลูกเรียนได้สูงๆ แต่ว่าคนเราอย่างว่า ไม่เหมือนกันนะ ลูกผม ผมส่งไปเรียนนะ แต่เรียนไม่จบ กลับมา อีกอย่างหนึ่งเราก็ไม่มีเงินส่งเรียนอะไรมากด้วย ไปเรียนก็ต้องอาศัยวัด ไปลำบาก แต่ว่าถ้ามาคิดดูว่า อย่างพ่ออยู่อย่างนี้ก็อยู่ได้ เขาอยู่ได้ไหม ถ้าอยู่ได้ก็มาอยู่แบบนี้ เราเกิดมา ผมเช่ือว่า ไม่ถึง 100 ปีสักคนหรอก เราต้องจากกันไปอยู่แล้ว แต่ว่าช่วงเวลาสั้นๆ นี่ ถ้าเราอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาทั้งลูกทั้งอะไร เราก็ดูแลกันได้ ผมคิดแบบสั้นๆ ง่ายๆ ไม่ต้องคิดมาก เราบังคับใครไม่ได้หรอก ลูกก็ต้องกำหนดชีวิตของเขาเองแหละ เราจะไปกำหนดชีวิตทุกขั้นตอนก็ไม่ได้แล้วล่ะ แล้วแต่ คิดเอาเอง อันไหนที่สะดวก อันไหนที่สบาย ก็ไม่ได้ว่ากัน เขาต้องวางแผนครอบครัวเขาเองเหมือนกัน
ที่จริงคนรุ่นเก่า เขามีภูมิปัญญา มีความสามารถ แต่เสียดายสมัยนี้ สูญหายก็เกือบหมดละ จะหมดรุ่นละ หมดรุ่นนี้ก็ไม่น่าเหลือละ เมื่อก่อนเราไม่ได้เรียนหนังสือ เราดูแลตัวเองได้ เราก็เรียกว่า ภูมิปัญญา แต่เดี๋ยวนี้แค่จะคลอดลูก เราก็ต้องไปฝากครรภ์ พอ 2 ปีครึ่ง ก็เข้าเกณฑ์ต้องไปศูนย์เด็กเล็ก เขาปลูกฝังเรา ตั้งแต่เล็กๆ ตั้งแต่ในท้อง จนเรียนหนังสือ ก็โดนคนอื่นสอนตลอด โอกาสที่พ่อแม่จะได้สอนลูกก็น้อยลง อาทิตย์หนึ่ง 2 วัน ครูยังดึงไปอีกนะ สอนพิเศษ สอนอะไร พ่อแม่ก็แทบไม่ได้สอนเลย เมื่อก่อนรุ่นพวกผมไม่ได้เรียนหนังสือ เวลาพ่อแม่จะไปไร่ก็จะตามพ่อแม่ไป เราตัวเล็กๆ พ่อแม่ก็จะทำมีดให้เราเล่มหนึ่ง เล็กๆ ให้เข้ากับเรา ฟันอะไรก็ฟันไป จะคมไม่คมก็ไม่รู้ หัดฟันไปก่อน ฟันไปเรื่อย พอโตขึ้นมาหน่อย มีดก็เล่มใหญ่ขึ้นมาหน่อย แล้วพอเราวัยรุ่นเริ่มมีแรง รู้จักทำงานที่เราฝึกฟันมาตั้งแต่เด็กๆ เราก็จะใช้เป็น ชำนาญละ เนี่ย เค้าก็จะสอนกันมาอย่างนี้ แต่ตอนนี้ไม่ได้แล้ว สมัยนี้ พ่อแม่ยังตามลูกไม่ทันเลย ลูกไปถึงดาวอังคารแล้ว (หัวเราะ) ไปไกล พ่อแม่ตามไม่ทัน มันกลับกันหมดแล้ว มันเปลี่ยน เพราะฉะนั้นคนกะเหรี่ยงเนี่ย อีกไม่นานหรอก ผมว่าหมด กลืนหมดแล้ว รุ่นผมพูดภาษาไทยได้น้อยกว่าภาษากะเหรี่ยง แต่รุ่นใหม่นี่พูดภาษากะเหรี่ยงได้น้อยกว่าภาษาไทยแล้ว อันนี้เป็นเรื่องจริง
วิถีเรา พึ่งพาอาศัยธรรมชาติ อาศัยภูมิปัญญาเราเอง อย่างสมัยก่อนคลอดลูกใช้หมอตำแย แต่เดี๋ยวนี้หมอตำแยมีนะ แต่ไม่ใช้กันแล้ว เพราะถูกสอนว่า หมอตำแยไม่รู้เรื่องอนามัย ไม่ถูกต้องตามหลัก เมื่อก่อนผมเคยเถียงกับสาธารณสุขอำเภอนะ เพราะเขาบอกว่าหมอตำแยมันอันตราย สายสะดือใช้ไม้ไผ่ตัด มันจะติดเชื้อ ผมก็ถามว่า ถ้าเป็นท่านอยู่ในป่าเนี่ย ในวินาทีนั้น จะคลอดลูกแล้ว ท่านจะเลือกอะไร จะไม่เอาอย่างนี้หรอ ท่านจะไม่เอาเชียวหรอ แต่ถ้าท่านอยู่ในเมืองก็ว่ากันไป แต่นี่อยู่ในป่า จะเอาอะไรแบบในเมือง ถ้าเราอยู่ในป่า เราจะเอาชีวิตทั้งชีวิตไปฝากอยู่ในเมืองหรอ อะไรมันจะเหลือ อันนี้เรื่องจริง เวลาอยู่ในป่าก็ต้องอาศัยปัญญาที่เรามีให้ได้ก่อน แล้วตอนเราจะไปแจ้งเกิด ก็ค่อยเข้าเมืองไปแจ้ง ก็ว่ากันไป
เราสอนกันผ่านเพลง ผ่านนิทาน เรื่องเล่า
เมื่อก่อน ตอนรุ่นๆ ผมเคยเป็นคนรำตง มันจะมีตัวประกอบ มีอะไรอยู่เหมือนกัน แต่ว่าผมได้เป็นพระเอกรำ ผมถึงบอกว่า หล่อ ไง โธ่ (หัวเราะ) เมื่อก่อนสาวๆ ติดนะ (หัวเราะ) เพราะมันอยู่ที่สูงไง อยู่บนเวที เขาก็มองสูงๆ ไง ก็เลยว่า หล่อ (หัวเราะเสียงดัง) ที่ได้แสดงนี่ คือ การสืบทอด ยายก็เป็น พ่อก็เป็น มันรุ่นสู่รุ่น มาถึงรุ่นผมสุดท้ายละ พวกลูกนี่ ไม่เป็นสักคน ไม่ได้แล้ว ต้องร้องด้วย รำด้วย เป็นภาษากะเหรี่ยง ตอนนี้หายากละ ยังมีหลงเหลืออยู่ในหมู่บ้านบ้างก็น้อยเต็มที ในเนื้อเพลงก็จะบอกเล่าเรื่อง สถานที่ต่างๆ ประวัติศาสตร์ พุทธประวัติ บรรยายเกี่ยวกับธรรมชาติ แต่งเป็นเพลงออกมา ประกอบท่ารำ ผมเป็นครูฝึกรำตงให้รุ่นน้องๆ หลายรุ่น แต่หลังๆ ไม่ไหวแล้ว แก่แล้ว แต่ถ้ามีเด็กรุ่นใหม่อาสาจะทำ มาเรียนที่นี่ก็ได้ มาที่นี่เราก็สอนได้อยู่ กะเหรี่ยงเราไม่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เราก็สอนกันเล่าสู่กันฟังผ่านเพลง ผ่านนิทาน จะจีบสาว ไปหาสาวๆ คุยกันผ่านเพลง เราร้องเพลงแบบมีนัยยะ ต้องตีความ ตีความเสร็จก็ตอบกลับมาเป็นเพลง อะไรแบบนี้ อย่างเช่น ร้องเพลงบอกสาวว่า ดอกไม้ดอกนี้มีผึ้งมาดอมดมแล้วหรือยัง (หัวเราะ) …แต่ถ้าจีบไม่สำเร็จ เขาจากเราไป เราก็ร้องเป็นเพลงให้เขาอีกว่า เราได้เจอดอกบัวแสนสวยกลางน้ำ ไม่คิดว่าใครจะได้ไปเชยชมนอกจากเรา แล้วก็แต่งเพลงแบบเหน็บๆ ว่า ตอนไปนี้ถ้าเจอขอนไม้ ก็จะตัดซะ อะไรแบบนี้ (หัวเราะ) …แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีละ จีบก็พูดกันตรงๆ ไปเลย (หัวเราะ)
คนกะเหรี่ยงนี่แปลก ไม่ชอบขายของ
บ้านที่เห็นนี่ ไม่ใช่ว่าจะปลูกสร้างเสร็จในทีเดียวนะ มันค่อยๆ ก่อขึ้นมา เพิ่มเติมกันทีละนิด สร้างกันเอง มีลูกเพิ่มก็ค่อยๆ เพิ่ม เราเอาแค่พอหลบแดดหลบฝน ผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่าสร้างบ้านก็สร้างให้ใหญ่หน่อย ทำไร่ก็ทำให้เยอะหน่อย ก็คือบอกให้เราขยัน และรู้จักแบ่งปัน ใครมาอยู่มากินด้วยกันได้เผื่อเวลาคนที่มาหาเรา คนกะเหรี่ยงนี่แปลก ไม่ชอบขายของ คนมาเยอะๆ มาพักกับเรา พอจะกลับเขาก็จะให้ตังค์แบบสินน้ำใจที่มาพัก จริงๆ เรารับไม่ได้ คนโบราณไม่ให้เรารับ เขาบอกว่า เมื่อเรารับตังค์เขา เท่ากับว่ามันจบแล้ว เหมือนเราไปนอนโรงแรม ไม่มีความผูกพัน ไม่รู้จักกันแล้ว แต่ถ้าเราไม่รับ พอเขากลับไป เขาอาจจะนึกถึงสักวันว่าเราเคยไปนอนที่บ้านลุงธงที่เกาะสะเดิ่งนะ แล้วก็เวลาผมทำแบบนี้ เพื่อนๆ ผมก็เยอะ มีที่กรุงเทพฯ ก็มี เวลาผมมีโอกาสได้ไป พวกเขาก็ต้อนรับผมดีนะ ผมก็ไม่ต้องใช้ตังค์นะ ผมแค่บอกเขาว่าผมจะไปกรุงเทพฯ คนที่รู้จักเขารู้ว่า พี่ธงจะมา เขาก็เอาเสื่อเอาข้าวเอาอะไรมาเลี้ยงดูเรา จนผมกลับมาอ้วนเลยอ่ะ (หัวเราะ) แล้วเวลาเขามาเราก็เลี้ยงดูเขา แบบนี้มันดีกว่าไหม อะไรแบบนี้ ผมทำแบบนี้แหละ เพื่อนผมก็มี ผมไม่เคยรับตังค์เขาหรอก ผมถือว่าเขาเป็นแขก เมื่อก่อนนี้ เวลาเดินทาง สมมติพรุ่งนี้กลุ่มนี้จะไปทิไล่ป้า มานอนอย่างนี้เยอะๆ ผมก็จะหุงข้าวไว้หม้อหนึ่ง เท่าที่ผมมีนะ หุงข้าวไว้ห่อไว้ เผื่อจะหิวกลางทาง ผมก็มีพริกก็ห่อพริก อย่างนี้ แต่ถ้ามาอยู่เกิน 3 วันนี ผมก็ไม่บริการละนะ ทีนี้ก็ต้องช่วยกันหน่อยละ เหมือนเป็นเจ้าของบ้านละ ต้องช่วยกันหาของมากินละนะ (หัวเราะ) แต่ถ้ามา 3 วันนี่ เรารับได้ เราเลี้ยงดูเท่าที่เรามี เกิน 3 วัน นี่ผมเป็นใหญ่ละ นะ ผมสั่งแล้ว (หัวเราะ) อย่างนี้ล่ะครับ วิถี ก็อยู่กันง่ายๆ แบบนี้ ผมพูดเยอะเนอะ อาจจะผิดพลาดบ้าง อย่าไปถือสา (หัวเราะ) …เอ้า กินข้าวๆ”
เสียงจานชามช้อนส้อมกระทบกันดังเข้ามาใกล้วงสนทนา พร้อมกลิ่นข้าวสุกใหม่หอมฉุย ทุกคนลุกและทะยอยไปยกกับข้าวกับปลาออกมาอีกชุดใหญ่ ก็เป็นอันปิดบทสนทนากันตรงนี้ เพราะเวลานี้ทุกคนท้องร้องหนักมาก…
จากใจคนทุ่งใหญ่ฯตะวันตก : ลุงจิตติ
อดีตหัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่ามหาราช เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เนื่องในวันผู้พิทักษ์ป่าโลก 31 กรกฎาคม 2561
“ทำงานให้ตรงนี้มาเกือบทั้งชีวิต
ไม่เคยคด ไม่เคยโกง
ทำงานเดือนต่อเดือน ปีต่อปี ทุ่มเทชีวิตที่นี่เกือบทั้งหมด
ไม่เคยคิดว่าเงินเดือนจะขึ้นหรือจะลง
นอกเหนือจากเงินเดือน ก็ไม่ต้องการอะไรอีก
ผมว่า ชีวิตเราอยู่ทุกวันนี้ ธรรมชาติให้เราเยอะแล้ว
อาหารการกิน อากาศบริสุทธิ์ อยู่กับทรัพยากรที่มีค่าที่สุด
ผมมีความสุข
ตอนเช้าผมนอนอยู่ ยังคุยให้ลูกน้องฟังว่า
หัวนอนของผมมีเสียงเก้งกวางมาคอยกินก๊อกแก๊กๆทุกคืน
ตื่นขึ้นมาเห็นชะนีโดดไป โดดมา
นก สิงสาราสัตว์เพรียกพร้อง”
จิตติ สวัสดิ์สาย
อดีตหัวหน้าพิทักษ์ป่าหน่วยมหาราชทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันตก
จากใจคนทุ่งใหญ่ฯตะวันตก : น้าแป๊ะ
หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าทิคอง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เนื่องในวันผู้พิทักษ์ป่าโลก 31 กรกฎาคม 2562
“ทำงานในทุ่งใหญ่มาตั้งแต่ปี 2532 รักป่าและสัตว์ป่าเลยทำมาเรื่อยๆ อยู่ตรงนี้มีความสุขหลายอย่าง
ทั้งได้เจอเพื่อนๆ และได้อยู่ในป่า อากาศก็ดี สัตว์ป่าก็เยอะ ดีใจที่สัตว์ป่ายังอยู่ให้เราเห็น เคยเจอเสือโคร่งด้วย แต่เสือโคร่งนี่นานๆเจอที ปกติเจอแต่รอยเท้าของมัน พอเจอกัน ก็ไม่น่ากลัว มันเหมือนแมว และมันก็กลัวคน เราหลบมัน มันก็หลบเรา ส่วนเสือดาวนี่เจอบ่อย แต่ขอไม่บอกพิกัด กลัวคนมาล่า
อยู่ที่นี่ผมต้องออกลาดตระเวนประมาณ 15 วันต่อเดือน เคยมีครั้งนึง ไปลาดตระเวนหน้าฝน ช่วงนั้นน้ำป่าไหลหลาก 10 วัน เราต้องข้ามน้ำ ข้ามห้วยหลายห้วย ตอนลงเขา ฝนตกตลอด พื้นดินก็ลื่น เส้นทางเละ ลำบากมาก บางครั้งผ่านหน้าผา ต้องระวังเพราะอาจตกเขาได้ แต่ทุกคนก็ไม่ท้อ ต้องทำงานให้เสร็จลุล่วง อยากฝากถึงเจ้าหน้าที่ป่าไม้รุ่นใหม่ ตอนนี้ป่าไม้เหลือน้อยแล้ว อยากให้ทุกคนตั้งใจทำงาน”
ศุภกิต พรหมมี
หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าทิคองทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันตก
จากใจคนทุ่งใหญ่ฯตะวันตก : น้าตาล
หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าสะเน่พ่อง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เนื่องในวันผู้พิทักษ์ป่าโลก 31 กรกฎาคม 2563
“ผมทำงานในทุ่งใหญ่มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2528 จุดเริ่มต้นที่มาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้คือ เราอาศัยอยู่ในอำเภอที่มีการทำไม้เยอะเกิน เลยอยากเข้าไปช่วยเจ้าหน้าที่เขาบอกทุ่งใหญ่ดี เลยมาทุ่งใหญ่พอเข้ามาก็ติดใจเลย
ตอนนี้ประจำอยู่ที่หน่วยสะเน่พ่องงานของเราก็จะคอยคุยกับชาวบ้านเรื่องการดูแลรักษาพื้นที่ร่วมกัน แนะนำชาวบ้านเรื่องการดูแลรักษาป่าหากมีสิ่งไหนก็คุยกัน ส่วนสิ่งไหนที่เราดูแลไม่ทั่วถึง ทั้งเรื่องการทำลายป่า ล่าสัตว์ป่า
ก็มีชาวบ้านคอยดูแล ใครที่ออกไปทำอะไรนอกกรอบที่ตกลงกันไว้ ก็จะมีชาวบ้านคอยช่วยดูแลและตรวจสอบ ถ้ามีคนนอกพื้นที่เข้ามาในพื้นที่ ชาวบ้านไปเจอก็จะมารายงาน คนนอกที่เข้ามา บางทีก็มาจากชายแดน บางครั้งก็ไม่ใช่คนไทย พวกนี้ก็พกอาวุธปืนมาล่าสัตว์ บางครั้งได้ชาวบ้านเป็นหูเป็นตามาแจ้ง เราก็จับได้ แต่เรามีกฏหมายความมั่นคงของประเทศ ทำให้พม่าเข้ามาขอตัวผู้ร้ายได้ คนร้ายก็ติดคุกได้แค่ 3 เดือน แล้วเราก็ต้องส่งกลับไป บางทีเจ้าหน้าที่เราก็หมดกำลังใจนะ
ในหนึ่งเดือนเราต้องลาดตระเวนในป่า 15 วัน สมัยก่อนเราไม่มีระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (ระบบ smart patrol) อุปกรณ์เราก็ไม่พร้อม ไม่มีเข็มทิศ, GPS, แผนที่ เราก็เดินกันเอง บางทีก็หลงป่ากันเอง 2 คืน 3 คืน
แต่ตั้งแต่ปี 2552 ที่ระบบ Smart patrol เข้ามา ทุกอย่างก็เริ่มดีขึ้น อุปกรณ์ก็ได้รับการสนับสนุนพร้อม ทั้งกล้อง แผนที่ เข็มทิศ GPS เวลาเดินเราพบร่องรอย เราก็บันทึกไว้ ทั้งร่องรอยการล่าสัตว์บ้าง การทำไม้บ้าง ยิ่งช่วงหลัง เส้นทางที่เราพบร่องรอย เราก็จะเข้าไปซ้ำบ่อยๆจนพวกทำผิดกฎหมายไม่กล้าเข้ามา บางคนถูกจับ พวกมาล่าสัตว์ถูกดำเนินคดี การลาดตระเวนมีประสิทธิภาพกว่าแต่ก่อนมาก เดี๋ยวนี้เส้นทางที่เคยพบร่องรอย ตอนนี้กลายเป็นป่าหมดแล้ว
ที่ทำอยู่ตรงนี้ได้ถึงทุกวันนี้ คือรักไง
มันรักไปแล้ว
เวลาอยู่ในป่า ตอนเย็นกินข้าวเสร็จนอน ไม่มีโทรทัศน์ดู สัญญาณโทรศัพท์ไม่มี ไฟฟ้าไม่มี ถึงเวลาเราก็นอนอยู่ในป่าไม่ร้อนเลย ในทุ่งใหญ่มีสองฤดู คือหน้าฝนกับหน้าหนาว ต้องห่มผ้านอนทุกคืน บรรยากาศดี ที่ชอบมากที่สุดคือสัตว์ป่า ชอบเวลาเจอมันในป่า ก่อนมาทำงานป่าไม้ไม่เคยเห็นสัตว์ป่าเลย ทั้งกระทิง กวาง เสือ ไม่รู้ด้วยว่าบ้านเรามี
ในทุ่งใหญ่เห็นสัตว์ทุกอย่าง ถึงรู้ว่ามันเป็นยังไง ตื่นเต้นมาก ครั้งแรกเห็นกวางนึกว่าเป็นวัว ไปถามรุ่นพี่ว่า ใครเอาวัวมาเลี้ยง รุ่นพี่ก็ค่อยๆแนะนำให้ว่านี่คือตัวอะไร แล้วรุ่นพี่ก็แนะนำว่า อย่าไปอยู่ตามด่านทางเดินของสัตว์ ตอนแรกรุ่นพี่ก็สอนทุกอย่าง ต่อมาเราก็สอนรุ่นน้องต่อไป
ทุกวันนี้ผ่านมา 30 ปี เวลาเจอสัตว์ป่าก็ไม่ตื่นเต้นแล้ว แต่คิดว่าสัตว์เป็นพวกเดียวกัน เวลาเราขับรถไปเจอด่านมัน เราก็เตรียมชะลอรถแล้ว เราต้องจอดให้มันข้ามไปก่อน กลัวเหยียบมัน บางทีถ้าเราจอดรถ มันก็จะยืนมองเรา
เราก็ยืนมองมัน ต่างคนต่างมอง มองจนกว่าจะไป บางทีเจอฝูงสัตว์ พวกจ่าฝูงก็จะให้ฝูงตัวเองเดินไปก่อน แล้วตัวเองค่อยปิดท้าย
อีก 4 ปีก็จะเกษียณแล้ว อยากฝากรุ่นน้องให้ตั้งใจช่วยกันทำงาน ช่วยดูแลทุ่งใหญ่ บางคนติดโลก social มากไป หน่วยไหนไม่มีสัญญาณก็อยู่ไม่ได้ อยากให้พัฒนาตัวเอง แต่บางคนก็ตั้งใจดีมาก
อยากฝากถึงคนตำบลไล่โว่ที่อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ทุกคน อยากให้พวกเราทุกคนช่วยกันดูแลรักษาพื้นที่มรดกโลกไว้ อยากให้พวกเราทุกคนร่วมมือกัน
นายเจริญ มะลิซ้อน
พนักงานพิทักษ์ป่า ส2 / หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าสะเน่พ่องทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันตก
หลักในการปฏิบัติเพื่อการอนุรักษ์ป่ามรดกโลกของเยาวชนโครงการฯ
จากการได้ประชุมพูดคุยกันของกลุ่มเยาวชนโครงการ One Community เรื่องหลักปฏิบัติเพื่อการอนุรักษ์ป่ามรดกโลก ได้สรุปหัวข้อที่จะสร้างหลักปฏิบัติเพื่อการอนุรักษ์ป่ามรดกโลกผืนนี้ โดยกำหนดเป็นพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ไว้ 2 ลักษณะ
“ไร่หมุนเวียน” โดยเน้นที่วิถีการดำรงชีวิตให้มีหลักสอดคล้องไปกฏธรรมชาติ โดยแบ่งเป็น 4 ด้าน คือ
- ด้านเศรษฐศาสตร์
- ด้านคุณธรรม
- ด้านจริยธรรม
- ด้านนิเวศ
และ “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” หรือ “ป่าต้นน้ำ” โดยเน้นที่การเข้าไปทำความรู้จัก ศึกษาอย่างเข้าถึงความจริงแบ่งเป็น 4 ด้าน ประกอบด้วย
- ดิน
- น้ำ
- พืช
- อากาศ
ทำความเข้าใจเรื่องวิถี “ไร่หมุนเวียน” ของชาวกะเหรี่ยงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก
ไร่หมุนเวียน
คือระบบการผลิตอาหารของชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ร่วมกับป่า ที่เป็นองค์ความรู้ท้องถิ่นที่สั่งสมมายาวนาน วงจรการผลิตที่ใช้ระยะสั้นและพักฟื้นพื้นที่ระยะยาวเป็นการจําลองวัฏจักรระบบนิเวศเขตร้อนชื้น ความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิตในไร่หมุนเวียนจึงขึ้นอยู่กับความสมดุลของระบบนิเวศ เช่น ดิน พืชปกคลุมดิน ไฟป่า ความชุ่มชื้น น้ํา ความหลากหลายของพืชพรรณ สัตว์ป่า ภูมิอากาศ ฯลฯ และการหมุนเวียนธาตุอาหารตามธรรมชาติ การจําลองนิเวศในระบบไร่หมุนเวียนดําเนินการหลายรูปแบบ เช่น การเลือกพื้นที่ที่มีนิเวศไม่เปราะบาง การเลือกพื้นที่ไร่ซากที่มีอายุพอเหมาะกับระยะที่ผืนดินและต้นไม้สะสมธาตุอาหารได้อย่างพอดี การเผาไร่จึงเป็นการปลดปล่อยธาตุอาหารจากพืชสู่ดิน การไม่ตัดฟันให้เตียน ก็เพราะต้องอาศัยระบบสังคมพืชที่ หลากหลายช่วยเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ไร่หมุนเวียนจึงไม่ใช่เพียงระบบการผลิตของคนกะเหรี่ยง แต่ยังเป็นระบบนิเวศประดิษฐ์หน่วยย่อยภายใต้นิเวศวิทยาภูมิทัศน์ (Ecological Landscape) ใหญ่ที่มีทั้งภูเขา ที่สูง หุบเขา ต้นน้ํา ป่าทึบ ป่าผสมผลัดใบ ทุ่งหญ้า ฯลฯ ที่เชื่อมโยงกันทั้งระบบ
คนกะเหรี่ยงที่นี่ยึดหลักระบบสิทธิการจัดการทรัพยากรร่วมมายาวนาน ไร่หมุนเวียนแต่ละผืนไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์เบ็ดเสร็จเด็ดขาดของใคร แม้จะมีการรู้กันว่าผืนไร่ซากใดเป็นของครอบครัวไหนทํามานาน แต่ในทางปฏิบัติก็มีการแลกเปลี่ยนพื้นที่กันได้ และด้วยความเป็นระบบสิทธิต่อทรัพยากรร่วมนี้เอง ทําให้จํานวนพื้นที่ไร่ซากของตําบลไล่โว่ไม่ได้ขยายตัวแต่อย่างใด พื้นที่ไร่ซากทั้งหมดของแต่ละหมู่บ้านจึงเปรียบเสมือน พื้นที่ของส่วนรวม โดยมีครอบครัวที่ใช้พื้นที่เหล่านั้นมาก่อนเป็นผู้ถือสิทธิชั่วคราวเท่านั้น
ไร่หมุนเวียน หมายถึง การหมุนเวียนพื้นที่สําหรับปลูกข้าวไร่ ทุกปี โดยจะวนกลับมาใช้พื้นที่เดิมอีกครั้งในรอบ 8-10 ปี ชาวกะเหรี่ยงในทุ่งใหญ่ฯตะวันตก จะกําหนดพื้นที่การทําไร่หมุนเวียนไว้ เป็นโซนๆ โดยแต่ละโซนใหญ่ แต่ละครอบครัวจะสามารถหมุนเวียนบริเวณใดก็ได้ของโซนไหนก็ได้ เพราะ “ไม่มีใครเป็นเจ้าของที่ดิน” ที่ดินทั้งหมดเป็นของพระแม่ธรณี โดยความเชื่อนี้ ทําให้แปลงที่ถูกจัดสรรเพื่อการทําไร่หมุนเวียนเป็นพื้นที่สาธารณะที่ไม่ถูกครอบครอง และพื้นที่ใดที่ไม่ได้ถูกทําไร่จะถูกปล่อยตามธรรมชาติเพื่อให้ดินและต้นไม้กลับมาฟื้นฟูความสมบูรณ์อีกครั้ง
“ข้าวไร่” คือชื่อเรียกลักษณะพันธุ์ข้าวที่ปลูกกันในไร่หมุนเวียน มีทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว เป็นข้าวที่ปลูกได้ดีบนที่ดอนหรือท่ีลาดเชิงเขา ไม้ต้องการน้ําเยอะ น้ําไม่ท่วมขัง โดยมีหลากหลายสายพันธุ์ ส่วนใหญ่แล้วเป็นข้าวไร่พันธุ์พื้นเมืองที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ มีมากถึง 38 สายพันธุ์
แต่โดยทั่วไป ข้าวเจ้าที่ปลูกกันจะมีประมาณ 5-10 สายพันธุ์ข้าว และข้าวเหนียว 1-2 สายพันธุ์ ขึ้นกับความนิยมของแต่ละครอบครัว โดยแต่ละสายพันธุ์จะมีรสชาติและคุณลักษณะที่เหมาะในการนํามาใช้กินคนละแบบ
โดยจะเริ่มปลูกช่วงต้นฤดูฝน และเก็บเกี่ยวในช่วงต้นฤดูแล้ง (พฤษภาคม-พฤศจิกายน) และจะเริ่มมีการเตรียมแปลงปลูกข้าวไร่กัน ตั้งแต่ ต้นเมษายน
กระบวนการปลูกข้าวไร่
- สํารวจหาพื้นที่ปลูกข้าวจากไร่ข้าวเดิมที่เคยปลูกไว้ 8-10 ปีที่แล้ว เรียกว่า “ตีป่า” โดยดูจากมีวัชพืชน้อย ป่าโล่ง มีไผ่สูง
- เตรียมแปลงปลูก นับตั้งแต่ “ฟันไร่” คือการถาง
- “เผาซาก” เศษซากพืชและวัชพืชที่ฟันแล้ว (มีการกันไฟ) หลังเผาซากเสร็จแล้ว ก็จะมีการเริ่มปลูกผักกันในช่วงนี้
- “รื้อซาก” ความสะอาดแปลงด้วยการตัดและเก็บเศษไม้ หลังรื้อซากเสร็จแล้ว ก็จะมีการสร้างกระต๊อบกันในช่วงนี้
- “ดายหญ้า” หลังจากรื้อซากแล้วก่อนเข้าฤดูฝนที่พร้อมหยอดข้าว พื้นที่อาจมีหญ้าขึ้นอีกครั้ง ก็มีการดายหญ้าอีก 1 รอบ
- “หยอดข้าว” ปลูกแบบหยอดเป็นหลุม ห่างกันหลุมละประมาณ 1 ศอก โดยใช้เมล็ดข้าว 10-20 เมล็ดต่อหลุม
- “ดายหญ้า” กําจัดวัชพืชโดยการถางและถอนระหว่างการเจริญเติบโตของข้าวไร่ ประมาณ 2 – 3 ครั้ง
- การเกี่ยวข้าว เกี่ยวข้าวระยะสุกแก่ โดยมีการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้สําหรับปลูกในปีต่อไป
- การตากบนตอ หลังจากเกี่ยวแล้วจะตากรวงข้าวทิ้งไว้บนตอซังประมาณ 3-4 แดด เพื่อลดความชื้นข้าวหลังเก็บเกี่ยว
- ฟาดข้าวและพัดข้าว
- การเก็บรักษา หลังจากที่นวดข้าวและทําความสะอาดแล้ว เก็บไว้ในยุ้งฉางที่สะอาด ระบายอากาศได้ กันแดด กันฝน กันแมลงและสัตว์ศัตรูได้ หากไม่มียุ้งฉางสามารถเก็บไว้ในกระสอบและวางบนแคร่ท่ีสามารถระบายอากาศได้
แหล่งข้อมูลประกอบส่วนหนึ่งจากงานวิจัยของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา www.ldi.or.th
องค์ความรู้ด้านธรรมชาติและวิถีที่ค้นพบ
1. โปสเตอร์ความหลากหลายทางธรรมชาติจากโครงการ
2. แผนที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก (Thungyai West Wildlife Sanctuary)
3. รู้จักวิถีไร่หมุนเวียน
สำรวจความหลากหลายของปลาน้ำจืดในลำธารโรคี่ (บ้านเกาะสะเดิ่ง-สะเน่พ่อง)
สำรวจความหลากหลายของปลาน้ำจืดในลำธารโรคี่ ไหลผ่านชุมชน (บ้านเกาะสะเดิ่ง-สะเน่พ่อง) เพื่อปกป้องความหลากหลายทางธรรมชาติของบ้านเรา
พบความหลากหลายของปลาน้ำจืดมากกว่า 70 ชนิด และแมลงน้ำครบทั้ง 3 กลุ่มสำคัญที่เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพ ได้แก่ ชีปะขาว, แมลงเกาะหิน และแมลงหนอนปลอกน้ำ ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มนี้ จะพบได้ในแหล่งน้ำสะอาดที่มีปริมาณออกซิเจนในน้ำสูง ดังจะเห็นข้อมูลที่ค้นพบได้ในโปสเตอร์ 3 แผ่นนี้
คลิกเพื่อดูภาพในโครงการ
วิดีโอในโครงการ
จัดกิจกรรมเรียนรู้ธรรมชาติให้กับเด็กในชุมชน
กิจกรรมเรียนรู้สิ่งมีชีวิตในลำธารให้กับเด็กในหมู่บ้านเกาะสะเดิ่ง
เป็นกิจกรรมครั้งแรก ที่ “โจอี้” เยาวชนบ้านเกาะสะเดิ่ง จัดให้เด็กๆระดับประถมศึกษาในหมู่บ้านเกาะสะเดิ่งได้มาเรียนรู้ ทำความรู้จักกับสิ่งมีชีวิตในลำธารที่ไหลผ่านหมู่บ้านเกาะสะเดิ่ง เด็กๆ ได้รู้จักแมลงน้ำ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดคุณภาพน้ำในขั้นต้น ปลาเล็กปลาน้อยที่อาศัยอยู่ในลำธารที่มีรูปทรงรูปร่างที่แตกต่างกันตามพื้นที่ที่แตกต่างกันในลำน้ำ บ้างอาศัยบริเวณแก่งหินน้ำไหลแรง บ้างอาศัยในน้ำนิ่งไหลเอื่อย และบ้างอาศัยใต้เลนที่มีใบหญ้าตกทับถม เด็กๆ สนุกสนาน และแน่นอนว่า จะต้องมีกิจกรรมครั้งต่อไป แต่จะไปเรียนรู้เรื่องอะไรกันอีก ไว้เราติดตามกัน
คลิกเพื่อดูภาพในโครงการ
กิจกรรมเรียนรู้ธรรมชาติให้กับเด็กในหมู่บ้านกองม่องทะ
กิจกรรมครั้งที่ 2 ณ บ้านกองม่องทะ “โจอี้” ชวนให้เด็กระดับมัธยมของโรงเรียนบ้านกองม่องทะ ในหมู่บ้านกองม่องทะ ได้เรียนรู้ในเรื่องของปัจจัย 4 และเล่าประวัติความเป็นมาของทุ่งใหญ่นเรศวร เล่าความสำคัญของเสือ แมลง ปลา นก และตัวชี้วัดคุณภาพน้ำ และทำกิจกรรมให้เด็กๆ เชื่อมโยงความสัมพันธ์กันของทุกสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ ไปด้วยในตัว