“อย่างนี้ละครับ วิถี”
เมื่อครั้งที่ได้เข้าไปหมู่บ้านเกาะสะเดิ่ง เมื่อกลางสิงหาคมปี 2561 ทีมงานได้มีโอกาสไปพักที่บ้านน้องวัช เยาวชนในโครงการ One Community ครั้งนั้นได้พบปะพูดคุยกับคุณพ่อน้องวัช “พ่อธง” ทำให้ได้มุมมองความคิด …ที่ยังคงอยู่ในใจจนทุกวันนี้… ถึงชีวิตและวิถีของชุมชนคนในทุ่งใหญ่ฯตะวันตก ลองมาฟังเรื่องราวของ พ่อธง กันค่ะ
“คนสมัยก่อนในนี้ เรารู้จักกันเป็นส่วนใหญ่นะ เป็นญาติๆ กันนี่แหละ อยู่กันก็ปลูกผัก ปลูกข้าว หลังๆ มีปลูกพวกเงาะ ปลูกทุเรียน ปลูกส้มโอ ปลูกกล้วย ก็ได้กินกัน ไม่ต้องใช้เงินซื้อ แต่ก็ไม่ได้ขาย เพราะกว่าจะออกไปก็ไกล ถึงไม่ได้ตังค์ แต่ได้กิน ใครจะมากินก็กิน ลูกได้กิน ลูกคนอื่นได้กิน …พูดง่ายๆ ไม่มีเงิน แต่มีกิน มีข้าวกิน มีผัก แค่นี้เราก็อยู่ได้แล้ว เงินก็หาน้อยหน่อย ก็ได้จากการขายหมากบ้าง เอาไว้ใช้ซื้อของจำเป็นอื่น กะปิ นํ้าปลา นํ้ามัน
“เส้นทาง” นะ ไม่ใช่ “ถนน”
ที่ที่พวกผมอยู่เราขอแค่ “เส้นทาง” ก็พอแล้ว ในการติดต่อกับข้างนอก “เส้นทาง” นะ ไม่ใช่ “ถนน” เส้นทางที่พอให้มอเตอร์ไซค์ขับไปได้ ทำกันแบบชาวบ้านทำด้วยชาวบ้านเอง ไม่ได้ใช้แบคโฮทำ เพราะเราก็ห่วงว่า ถ้ามีถนนเข้ามา เราพร้อมจะรับมือกับสิ่งที่จะตามมาได้ไหม แล้วจริงๆ แล้วพวกเราก็ไม่ได้มีรถกันสักกี่คัน ส่วนใหญ่คนที่มีรถก็เป็นคนมีตังค์ ทีนี้ล่ะ พอคนมีรถเข้ามา เราจะไม่ได้เป็นเจ้านายตัวเองแล้ว เพราะเราจะกลายเป็นลูกน้องเขานั่นแหละ (หัวเราะ) เราไม่ได้ปฏิเสธความเจริญนะ แต่ว่าถนนดีๆ บ้านช่องดีๆ มีไฟฟ้าดีๆ เนี่ย จิตใจเรามันต้องดีขึ้นด้วย ไม่อย่างนั้น มันก็จะอยู่กันดีๆไม่ได้ เพราะจิตใจเสื่อม มีบ้านดี แต่เราหยุดไปวัดไปวา หยุดไปมาหาสู่กัน หยุดพึ่งพาอาศัยกัน แล้วมันจะดียังไง เราต้องมากรองให้ดีๆ อย่างเมื่อก่อนวัดเราเป็นไม้ไผ่ คนมาเต็ม กลัววัดพัง ช่วงหลังเราทำหลังใหญ่หน่อย แข็งแรงหน่อย แต่เดี๋ยวนี้ คนกลับขึ้นวัดน้อยลง เพราะอะไรไม่รู้ คนอาจจะลืมคิด แต่ไม่เป็นไร ค่อยๆปรับ ค่อยๆเป็นไป จะซ้ายหันขวาหันทีเดียวแรงๆ มันจะขาด …มีเหมือนกันนะที่อยากได้ถนน อยากได้ไฟฟ้า เราก็อยากอธิบายว่า จริงๆ เขาก็มีทำให้เสร็จสรรพแล้ว เราก็ไปหาบ้านในเมืองได้เลย เพราะเขาทำให้เราเสร็จแล้ว เราสามารถไปอยู่ได้เลย เราต้องเข้าใจคำว่า ป่า กับ เมือง อย่างเราอยู่ที่นี่ คือ ป่า นะ วิถีชีวิตเราก็ไม่เหมือนคนในเมือง ไม่ใช่เมือง ถ้าอยากได้แบบนั้น ก็ไปอยู่เมืองดีกว่าไหม อะไรอย่างนี้นะ ผมก็พยายามคุยให้เข้าใจ หลายคนก็ไม่อยากมองผมหรอก (หัวเราะ) เพราะเรามันสวนทาง เราสวนกันกับเขาน่ะ
คนที่แย่กว่าเรามีอีกเยอะแยะ
…มีเพื่อนผมคนหนึ่งเอาทุเรียนออกไปขายที่สังขละบุรี ก็ขายให้ชาวบ้านได้กิน ขายกิโลละ 20 บาทเองนะ มีป้าคนหนึ่ง เขาบอกว่ามีตังค์ 30 บาท ถ้าจะกินทุเรียนลูกหนึ่งได้ไหม เพื่อนก็สงสารก็ขายให้ ซึ่งคนแบบนี้มีอยู่เยอะไง คนมีตังค์น้อย คนที่แย่กว่าเรา ที่เขาไม่มีไร่หมุนเวียนเหมือนอย่างเรา เขาไม่มีที่จะปลูก ต้องทำงานรับจ้าง หาได้วันละ 200-300 บาท ต้องหาทุกวัน คนพวกนี้เขาแย่กว่าเรา เราไม่ต้องหาตังค์เพื่อซื้อทุกอย่างแบบเขา เราจะนอนทั้งวันก็ได้ อย่างผมนี่ตั้งแต่เข้าพรรษามา ไม่ได้เข้าไร่สักวันเลย ประมาณ 10 กว่าวันแล้ว ผมก็อยู่ได้ ผมไม่เดือดร้อนไงครับ มีข้าวกิน ไม่มีตังค์ก็อยู่ได้ ได้กินอยู่ทุกวันเลย แต่ถ้าต้องซื้อของจำเป็นก็ค่อยเอาหมากมาขาย ตอนนี้ผมยังเก็บหมากไว้อยู่นะ รอให้หมากเริ่มหมดก่อน ช่วงนั้น หมากจะได้ราคาดี ตอนนี้ผมมีหมากที่เก็บไว้ขาย 100 กว่าโล ถ้าขายตอนหมากเริ่มหมด ผมก็ขายได้กิโลเป็นร้อย ผมก็อยู่ได้ไปอีกหลายเดือน (หัวเราะ) อยู่เอาง่ายๆ แบบนี้แหละ
ป.4 เดี๋ยวนี้ สู้ ป.4 รุ่นผมไม่ได้หรอก
ตอนเด็กๆ ผมอยู่วัดไม่ได้เรียนหนังสือ เป็นลูกศิษย์วัดตั้งแต่เล็ก อยู่มา 5 ปี เริ่มบวชเณรได้ ก็บวช จำได้ว่าตอนเล็กๆ ไม่ได้เรียนหนังสือ ก็เล่นทุกวันเลย สบาย (หัวเราะ) พอบวชเณร พระสวดอะไรเราก็สวดได้หมด เพราะสวดมาทุกวันอยู่แล้ว ตอนที่ผมสึกจากเณร อายุ 13-14 ปี เพิ่งเริ่มมีโรงเรียนมาเปิด ครูมาจากเพชรบุรี ตอนนั้นผมตัวใหญ่กว่าเพื่อนเลย เริ่มเรียน ป.1 จบ ป.4 ตอนอายุ 18 ปี จำได้ว่าครูประจำชั้น เล่นฟุตบอลด้วยกันนี่ วิ่งตามผมไม่ทันหรอกนะ (หัวเราะ) จบ ป.4 ก็ไม่ได้เรียนต่อละ ป.4 สมัยก่อนความรู้เยอะนะ ป.4 เดี๋ยวนี้สู้รุ่นพวกผม ป.4 ไม่ได้หรอก (หัวเราะ) (น้องวัชแอบบอกว่า “ปริญญาตรีเดี๋ยวนี้ ยังสู้ ป.4 แบบพ่อผมไม่ได้เลย) แต่พอเรามีลูกก็อยากให้ลูกเรียนได้สูงๆ แต่ว่าคนเราอย่างว่า ไม่เหมือนกันนะ ลูกผม ผมส่งไปเรียนนะ แต่เรียนไม่จบ กลับมา อีกอย่างหนึ่งเราก็ไม่มีเงินส่งเรียนอะไรมากด้วย ไปเรียนก็ต้องอาศัยวัด ไปลำบาก แต่ว่าถ้ามาคิดดูว่า อย่างพ่ออยู่อย่างนี้ก็อยู่ได้ เขาอยู่ได้ไหม ถ้าอยู่ได้ก็มาอยู่แบบนี้ เราเกิดมา ผมเช่ือว่า ไม่ถึง 100 ปีสักคนหรอก เราต้องจากกันไปอยู่แล้ว แต่ว่าช่วงเวลาสั้นๆ นี่ ถ้าเราอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาทั้งลูกทั้งอะไร เราก็ดูแลกันได้ ผมคิดแบบสั้นๆ ง่ายๆ ไม่ต้องคิดมาก เราบังคับใครไม่ได้หรอก ลูกก็ต้องกำหนดชีวิตของเขาเองแหละ เราจะไปกำหนดชีวิตทุกขั้นตอนก็ไม่ได้แล้วล่ะ แล้วแต่ คิดเอาเอง อันไหนที่สะดวก อันไหนที่สบาย ก็ไม่ได้ว่ากัน เขาต้องวางแผนครอบครัวเขาเองเหมือนกัน
ที่จริงคนรุ่นเก่า เขามีภูมิปัญญา มีความสามารถ แต่เสียดายสมัยนี้ สูญหายก็เกือบหมดละ จะหมดรุ่นละ หมดรุ่นนี้ก็ไม่น่าเหลือละ เมื่อก่อนเราไม่ได้เรียนหนังสือ เราดูแลตัวเองได้ เราก็เรียกว่า ภูมิปัญญา แต่เดี๋ยวนี้แค่จะคลอดลูก เราก็ต้องไปฝากครรภ์ พอ 2 ปีครึ่ง ก็เข้าเกณฑ์ต้องไปศูนย์เด็กเล็ก เขาปลูกฝังเรา ตั้งแต่เล็กๆ ตั้งแต่ในท้อง จนเรียนหนังสือ ก็โดนคนอื่นสอนตลอด โอกาสที่พ่อแม่จะได้สอนลูกก็น้อยลง อาทิตย์หนึ่ง 2 วัน ครูยังดึงไปอีกนะ สอนพิเศษ สอนอะไร พ่อแม่ก็แทบไม่ได้สอนเลย เมื่อก่อนรุ่นพวกผมไม่ได้เรียนหนังสือ เวลาพ่อแม่จะไปไร่ก็จะตามพ่อแม่ไป เราตัวเล็กๆ พ่อแม่ก็จะทำมีดให้เราเล่มหนึ่ง เล็กๆ ให้เข้ากับเรา ฟันอะไรก็ฟันไป จะคมไม่คมก็ไม่รู้ หัดฟันไปก่อน ฟันไปเรื่อย พอโตขึ้นมาหน่อย มีดก็เล่มใหญ่ขึ้นมาหน่อย แล้วพอเราวัยรุ่นเริ่มมีแรง รู้จักทำงานที่เราฝึกฟันมาตั้งแต่เด็กๆ เราก็จะใช้เป็น ชำนาญละ เนี่ย เค้าก็จะสอนกันมาอย่างนี้ แต่ตอนนี้ไม่ได้แล้ว สมัยนี้ พ่อแม่ยังตามลูกไม่ทันเลย ลูกไปถึงดาวอังคารแล้ว (หัวเราะ) ไปไกล พ่อแม่ตามไม่ทัน มันกลับกันหมดแล้ว มันเปลี่ยน เพราะฉะนั้นคนกะเหรี่ยงเนี่ย อีกไม่นานหรอก ผมว่าหมด กลืนหมดแล้ว รุ่นผมพูดภาษาไทยได้น้อยกว่าภาษากะเหรี่ยง แต่รุ่นใหม่นี่พูดภาษากะเหรี่ยงได้น้อยกว่าภาษาไทยแล้ว อันนี้เป็นเรื่องจริง
วิถีเรา พึ่งพาอาศัยธรรมชาติ อาศัยภูมิปัญญาเราเอง อย่างสมัยก่อนคลอดลูกใช้หมอตำแย แต่เดี๋ยวนี้หมอตำแยมีนะ แต่ไม่ใช้กันแล้ว เพราะถูกสอนว่า หมอตำแยไม่รู้เรื่องอนามัย ไม่ถูกต้องตามหลัก เมื่อก่อนผมเคยเถียงกับสาธารณสุขอำเภอนะ เพราะเขาบอกว่าหมอตำแยมันอันตราย สายสะดือใช้ไม้ไผ่ตัด มันจะติดเชื้อ ผมก็ถามว่า ถ้าเป็นท่านอยู่ในป่าเนี่ย ในวินาทีนั้น จะคลอดลูกแล้ว ท่านจะเลือกอะไร จะไม่เอาอย่างนี้หรอ ท่านจะไม่เอาเชียวหรอ แต่ถ้าท่านอยู่ในเมืองก็ว่ากันไป แต่นี่อยู่ในป่า จะเอาอะไรแบบในเมือง ถ้าเราอยู่ในป่า เราจะเอาชีวิตทั้งชีวิตไปฝากอยู่ในเมืองหรอ อะไรมันจะเหลือ อันนี้เรื่องจริง เวลาอยู่ในป่าก็ต้องอาศัยปัญญาที่เรามีให้ได้ก่อน แล้วตอนเราจะไปแจ้งเกิด ก็ค่อยเข้าเมืองไปแจ้ง ก็ว่ากันไป
เราสอนกันผ่านเพลง ผ่านนิทาน เรื่องเล่า
เมื่อก่อน ตอนรุ่นๆ ผมเคยเป็นคนรำตง มันจะมีตัวประกอบ มีอะไรอยู่เหมือนกัน แต่ว่าผมได้เป็นพระเอกรำ ผมถึงบอกว่า หล่อ ไง โธ่ (หัวเราะ) เมื่อก่อนสาวๆ ติดนะ (หัวเราะ) เพราะมันอยู่ที่สูงไง อยู่บนเวที เขาก็มองสูงๆ ไง ก็เลยว่า หล่อ (หัวเราะเสียงดัง) ที่ได้แสดงนี่ คือ การสืบทอด ยายก็เป็น พ่อก็เป็น มันรุ่นสู่รุ่น มาถึงรุ่นผมสุดท้ายละ พวกลูกนี่ ไม่เป็นสักคน ไม่ได้แล้ว ต้องร้องด้วย รำด้วย เป็นภาษากะเหรี่ยง ตอนนี้หายากละ ยังมีหลงเหลืออยู่ในหมู่บ้านบ้างก็น้อยเต็มที ในเนื้อเพลงก็จะบอกเล่าเรื่อง สถานที่ต่างๆ ประวัติศาสตร์ พุทธประวัติ บรรยายเกี่ยวกับธรรมชาติ แต่งเป็นเพลงออกมา ประกอบท่ารำ ผมเป็นครูฝึกรำตงให้รุ่นน้องๆ หลายรุ่น แต่หลังๆ ไม่ไหวแล้ว แก่แล้ว แต่ถ้ามีเด็กรุ่นใหม่อาสาจะทำ มาเรียนที่นี่ก็ได้ มาที่นี่เราก็สอนได้อยู่ กะเหรี่ยงเราไม่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เราก็สอนกันเล่าสู่กันฟังผ่านเพลง ผ่านนิทาน จะจีบสาว ไปหาสาวๆ คุยกันผ่านเพลง เราร้องเพลงแบบมีนัยยะ ต้องตีความ ตีความเสร็จก็ตอบกลับมาเป็นเพลง อะไรแบบนี้ อย่างเช่น ร้องเพลงบอกสาวว่า ดอกไม้ดอกนี้มีผึ้งมาดอมดมแล้วหรือยัง (หัวเราะ) …แต่ถ้าจีบไม่สำเร็จ เขาจากเราไป เราก็ร้องเป็นเพลงให้เขาอีกว่า เราได้เจอดอกบัวแสนสวยกลางน้ำ ไม่คิดว่าใครจะได้ไปเชยชมนอกจากเรา แล้วก็แต่งเพลงแบบเหน็บๆ ว่า ตอนไปนี้ถ้าเจอขอนไม้ ก็จะตัดซะ อะไรแบบนี้ (หัวเราะ) …แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีละ จีบก็พูดกันตรงๆ ไปเลย (หัวเราะ)
คนกะเหรี่ยงนี่แปลก ไม่ชอบขายของ
บ้านที่เห็นนี่ ไม่ใช่ว่าจะปลูกสร้างเสร็จในทีเดียวนะ มันค่อยๆ ก่อขึ้นมา เพิ่มเติมกันทีละนิด สร้างกันเอง มีลูกเพิ่มก็ค่อยๆ เพิ่ม เราเอาแค่พอหลบแดดหลบฝน ผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่าสร้างบ้านก็สร้างให้ใหญ่หน่อย ทำไร่ก็ทำให้เยอะหน่อย ก็คือบอกให้เราขยัน และรู้จักแบ่งปัน ใครมาอยู่มากินด้วยกันได้เผื่อเวลาคนที่มาหาเรา คนกะเหรี่ยงนี่แปลก ไม่ชอบขายของ คนมาเยอะๆ มาพักกับเรา พอจะกลับเขาก็จะให้ตังค์แบบสินน้ำใจที่มาพัก จริงๆ เรารับไม่ได้ คนโบราณไม่ให้เรารับ เขาบอกว่า เมื่อเรารับตังค์เขา เท่ากับว่ามันจบแล้ว เหมือนเราไปนอนโรงแรม ไม่มีความผูกพัน ไม่รู้จักกันแล้ว แต่ถ้าเราไม่รับ พอเขากลับไป เขาอาจจะนึกถึงสักวันว่าเราเคยไปนอนที่บ้านลุงธงที่เกาะสะเดิ่งนะ แล้วก็เวลาผมทำแบบนี้ เพื่อนๆ ผมก็เยอะ มีที่กรุงเทพฯ ก็มี เวลาผมมีโอกาสได้ไป พวกเขาก็ต้อนรับผมดีนะ ผมก็ไม่ต้องใช้ตังค์นะ ผมแค่บอกเขาว่าผมจะไปกรุงเทพฯ คนที่รู้จักเขารู้ว่า พี่ธงจะมา เขาก็เอาเสื่อเอาข้าวเอาอะไรมาเลี้ยงดูเรา จนผมกลับมาอ้วนเลยอ่ะ (หัวเราะ) แล้วเวลาเขามาเราก็เลี้ยงดูเขา แบบนี้มันดีกว่าไหม อะไรแบบนี้ ผมทำแบบนี้แหละ เพื่อนผมก็มี ผมไม่เคยรับตังค์เขาหรอก ผมถือว่าเขาเป็นแขก เมื่อก่อนนี้ เวลาเดินทาง สมมติพรุ่งนี้กลุ่มนี้จะไปทิไล่ป้า มานอนอย่างนี้เยอะๆ ผมก็จะหุงข้าวไว้หม้อหนึ่ง เท่าที่ผมมีนะ หุงข้าวไว้ห่อไว้ เผื่อจะหิวกลางทาง ผมก็มีพริกก็ห่อพริก อย่างนี้ แต่ถ้ามาอยู่เกิน 3 วันนี ผมก็ไม่บริการละนะ ทีนี้ก็ต้องช่วยกันหน่อยละ เหมือนเป็นเจ้าของบ้านละ ต้องช่วยกันหาของมากินละนะ (หัวเราะ) แต่ถ้ามา 3 วันนี่ เรารับได้ เราเลี้ยงดูเท่าที่เรามี เกิน 3 วัน นี่ผมเป็นใหญ่ละ นะ ผมสั่งแล้ว (หัวเราะ) อย่างนี้ล่ะครับ วิถี ก็อยู่กันง่ายๆ แบบนี้ ผมพูดเยอะเนอะ อาจจะผิดพลาดบ้าง อย่าไปถือสา (หัวเราะ) …เอ้า กินข้าวๆ”
เสียงจานชามช้อนส้อมกระทบกันดังเข้ามาใกล้วงสนทนา พร้อมกลิ่นข้าวสุกใหม่หอมฉุย ทุกคนลุกและทะยอยไปยกกับข้าวกับปลาออกมาอีกชุดใหญ่ ก็เป็นอันปิดบทสนทนากันตรงนี้ เพราะเวลานี้ทุกคนท้องร้องหนักมาก…