One Community Project

เกี่ยวกับเรา

ที่มาที่ไปของ ONE COMMUNITY

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เป็นผืนป่าใหญ่ขนาดกว่า 1.3 ล้านไร่ ซึ่งได้รับการประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในปี 2517 และได้รับการประกาศให้เป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลกทางธรรมชาติทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ในปี พ.ศ.2534 โดยองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) กินพื้นที่ป่าธรรมชาติใน 3 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก รวมกันเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทางธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของประเทศและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยพื้นที่รวม 4,017,087 ไร่ หรือกว่า 6,000 ตารางกิโลเมตร

ผืนป่ามรดกโลกทางธรรมชาติผืนนี้ ได้รับการสำรวจว่ามีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง รวมทั้งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำสายหลักของประเทศไทยอีกหลายสาย เช่น แม่กลอง สาละวิน สะแกกรัง ท่าจีน และบางส่วนของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นผืนป่าที่มีความงดงามตามธรรมชาติ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ความหลากหลายของระบบนิเวศ ตลอดจนลักษณะภูมิประเทศที่มีความเฉพาะและโดดเด่น และมีพรรณพืชและพันธุ์สัตว์ที่สำคัญที่ทั่วโลกให้ความสนใจ

ว่าเฉพาะในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก นอกจากจะมีความโดดเด่นและคุณค่าดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ก็ยังมีชุมชนกะเหรี่ยงที่มีวิถีและวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม อาศัยอยู่ภายในป่าผืนเดียวกันนี้ทั้งหมด 7 ชุมชน หรือนับเป็น 6 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านกองม่องทะ หมู่บ้านสะเน่พ่อง หมู่บ้านเกาะสะเดิ่ง หมู่บ้านทิไล่ป้า หมู่บ้านสาละวะ-ไล่โว่ และหมู่บ้านจะแก โดยชุมชนทั้งหมดนี้มีข้อมูลตรงกันในเอกสารอ้างอิงหลายแห่งว่าเป็นชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมาเกินร้อยปีแล้ว

คนทั่วไปมักจะมองว่า ภัยคุกคามต่อระบบนิเวศธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปของประเทศ คือ การตัดไม้ การล่าสัตว์ และการจุดไฟเผาป่า ซึ่งส่วนใหญ่มาจากคนหรือชุมชนที่อยู่ในหรือใกล้ป่าที่ใช้ทรัพยากรเหล่านี้ในการเลี้ยงชีพแบบตรงไปตรงมา แต่ภัยคุกคามอีกรูปแบบหนึ่งมาจากแนวคิดแบบสังคมเมืองที่ค่อยๆ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนและพื้นที่ธรรมชาติ หรือการเข้ามาของความเจริญทางวัตถุและเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ ที่สร้างความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่พวกเขาพึ่งพาตนเองและพอเพียงตามหลักปัจจัย 4  หรือกระทั่งกระแสหรือมุมมองของชาวบ้านในเรื่องการศึกษาที่เห็นว่า การศึกษานั้นต้องผ่านเข้าห้องเรียนในระบบของรัฐแต่เพียงอย่างเดียว การทำไร่หรือการทำกินแบบวิถีดั้งเดิมนั้นไม่สามารถเป็นการศึกษาที่จะเลี้ยงดูตนเองได้ นั่นเลยทำให้คนรุ่นใหม่ของชุมชนเริ่มออกห่างธรรมชาติและไม่เข้าใจวิถีวัฒนธรรมที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติของบรรพบุรุษ นั่นหมายถึง การเพิ่มความเสี่ยงต่อการสูญเสียและการเบียดเบียนธรรมชาติอย่างเลี่ยงได้ยาก แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ยังเป็นเพียงความเสี่ยงขั้นเริ่มต้นเท่านั้น

ดังนั้น ความจำเป็นเร่งด่วนของที่นี่จึงเป็นเรื่องของการสร้างความเข้าใจต่อคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในผืนป่ามรดกโลกผืนนี้ ให้เห็นความจริง เห็นคุณค่าของพื้นที่ธรรมชาติที่ตนอาศัยว่าอยู่เป็น “ป่าบ้านเกิด” ที่สมบูรณ์แบบ ขณะเดียวกันก็พัฒนาความคิดและศักยภาพของคนรุ่นใหม่ในชุมชนให้ลึกซึ้งถึงวิถีวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมของบรรพบุรุษที่สอดคล้องกับการอยู่กับป่ามาช้านานด้วยหลักของวิทยาศาสตร์ หรือ “กฎธรรมชาติ” เพื่อนำไปสู่การ “รู้คิด รู้ทำ รู้อยู่” กับป่าในแบบของ “คนรุ่นใหม่” ที่เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันมากขึ้น ตลอดจนการสร้างความรู้สึกร่วมให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมในการปกป้องรักษาป่า (มรดกโลก) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฯ ได้อย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน 

การเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เห็นคุณค่าของตนเอง ในฐานะของบุคคลที่อยู่และเป็นส่วนหนึ่งใน “มรดกโลก” สามารถเป็นผู้รักษาธรรมชาติป่าไม้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฯ และสามารถมีวิถีที่เอื้อต่อธรรมชาติและเป็นประโยชน์ต่อชุมชน ไปจนถึงสามารถถ่ายทอด บอกเล่าคุณค่าเหล่านี้ ไปยังสังคมและเด็กๆ ในชุมชนรุ่นต่อๆไปได้ จึงเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุนให้เกิดขึ้น ซึ่งจะต้องอาศัยการทำกระบวนการอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้ป่ามรดกของประเทศไทยผืนนี้ เป็นผืนป่ามรดกของ “โลก” ได้อย่างยั่งยืน

“เพราะเราคือมรดกโลกร่วมกัน”

เป้าหมายของโครงการ

  1. เกิดเยาวชนต้นแบบ ที่อยู่ใน 7 ชุมชนของผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก เป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในหน้าที่ของการดูแลรักษาผืนป่ามรดกโลกแห่งนี้ (Oneness)
  2. เกิดองค์ความรู้จากการทำโครงการ ในการสร้างการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาผืนป่ามรดกโลกของชุมชน

หลักคิดในการทำโครงการ

มนุษย์เป็นตัวแปรสำคัญของการเปลี่ยนแปลงโลก ไม่ว่าจะทางที่ดีขึ้น หรือ แย่ลง
แล้วสิ่งที่มนุษย์ ควรกระทำคือ อะไร

การเปลี่ยนแปลง ไปสู่ คุณและโทษ 

คือ สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และการเปลี่ยนแปลงทุกๆ ครั้งย่อมมีผลกระทบตามมา ไม่เป็นคุณ ก็เป็น โทษ 

ระบบเศรษฐกิจ (Economy) / ระบบนิเวศ (Ecology)

2 ระบบนี้ คือ สภาพแวดล้อม ที่มนุษย์ดำรงอยู่ร่วม
ระบบเศรษฐกิจ คือ สภาพแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น 
ระบบนิเวศ คือ สภาพแวดล้อมที่มนุษย์ไม่ได้สร้างขึ้น แต่จำเป็นต้องมีและขาดไม่ได้ 

ซึ่งทั้งสองสภาพแวดล้อมนี้ จะเปลี่ยนแปลงเสมอ หากเมื่อใดที่เศรษฐกิจรุ่งเรือง นั่นย่อมหมายถึง ระบบนิเวศก็จะถูกทำลายไปมากขึ้น 

การกระทำ ทางกาย/ทางใจ

2 สิ่งนี้ เป็นกิจกรรมที่มนุษย์กระทำในทุกวัน ทุกชั่วโมง และทุกวินาที และหากการกระทำทางใจ และการ กระทำทางกายนั้น เป็นไปในทางที่ถูกต้องเหมาะสมผลที่ตามมา ก็คือ ความสมดุล และความสุนทรีย์

สมดุล / สุนทรีย์

คือ ผลลัพธ์ จากการกระทำทางใจและกายที่ถูกต้อง เมื่อถูกต้องแล้ว สภาพแวดล้อมภายนอก (เศรษฐกิจและนิเวศ) ก็จะสมดุล และสภาพแวดล้อมภายใน (จิตใจ) ก็จะเกิด สุนทรียะ คือการมองเห็นความงามตามความเป็นจริง ทั้งต่อชีวิตเรา และชีวิตอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวเรา

สารสำคัญที่ได้จากโครงการ